บทความสรรพากร: สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
อ้างอิงบทความจาก: มุมสรรพากร ประจำเดือนมิถุนายน 2560 ฉบับที่ 61
การท่องเที่ยวนับเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญสาขาหนึ่ง ซึ่งทำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่ามหาศาลติดต่อกันมาเป็นเวลานานหลายปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเกิดการขยายตัว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เช่น ธุรกิจโรงแรม ที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม ของที่ระลึก บริการรถเช่าสถานที่จอดรถ เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานและยังเป็นกลไกที่สำคัญ ในการกระจายรายได้และความเจริญสู่ภูมิภาคอีกด้วย
รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายการท่องเที่ยวโดยส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยวและเร่งรัดการปรับปรุงมาตรฐานในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และสุขอนามัย เพื่อเป็นการเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ดังนั้น รัฐบาลจึงได้มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยภาคเอกชนที่จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
1. เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฏหมายไทย
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำรายจ่ายในการลงทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานหรือการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในชนบทและได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการลงทุนดังกล่าว โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่ส่วนราชการ องค์กรของรัฐบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปในการลงทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน หรือการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในชนบท และได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการลงทุนดังกล่าวโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่ส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากร
3. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการลงทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานหรือการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในชนบทโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่ ส่วนราชการ องค์กรของรัฐบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้า ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
4. เป็นโครงการที่ท้องถิ่นมีความต้องการจะพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจและสังคม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้แก่
1) ไฟฟ้า
2) ประปา
3) ถนน หรือ ทางพิเศษ
4) โทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
5) พลังงานทางเลือก
6) ระบบบริหารจัดการนำ หรือการชลประทาน
7) ระบบป้องกันภัยธรรมชาติ รวมถึงระบบเตือนภัยและระบบจัดการเพื่อลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นด้วย
8) พัฒนาหรือปรับปรุงอุทยานแห่งชาติ
9) พัฒนาหรือปรับปรุงโบราณสถาน
10) พัฒนาหรือปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวอื่นที่อยู่ในการกำกับดูแลของส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
5. สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2561 เป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี
นอกจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สะดวกสบายแล้วผู้ประกอบการในแหล่งท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวก็ควรมีจิตสำนึกที่ดีในการให้บริการและใช้บริการแหล่งท่องเที่ยวซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและยั่งยืนสืบต่อไป
VISIT OUR PAGE >> WWW.FACEBOOK.COM/KASMECO
สถาบันคัสเม่ สถาบันฝึกอบรมภาษี บัญชี การเงิน การลงทุน แห่งแรกของจังหวัดระยอง
KASME The Institute of Effective Training for SMEs
โทร. & แฟกซ์ (038) 872-046