1272965523380705 ภาษีร้านกาแฟ เกร็ดน่ารู้สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ 1272965523380705
top of page

ภาษีร้านกาแฟ เกร็ดน่ารู้สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่

ภาษีร้านกาแฟ เกร็ดความรู้น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการร้านกาแฟ หรือท่านที่กำลังวางแผนจะมีร้านกาแฟเป็นของตัวเองในอนาคต ในวันนี้ เราจะมาเก็บรายละเอียดต่างๆไปด้วยกันค่ะ

ปัจจุบันร้านกาแฟสดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และการเพิ่มขึ้นของจำนวนร้านกาแฟที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ก็เป็นไปได้ที่ในอนาคต "ภาษีร้านกาแฟ" จะกลายมาเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจ เพื่อไม่ให้เกิดประเด็นทางด้าน "ภาษี" ในอนาคต

เมื่อเริ่มต้นธุรกิจร้านกาแฟ

เราสามารถจดทะเบียนธุรกิจได้ตามรูปแบบของธุรกิจ และสามารถเข้าสู่ระบบภาษีได้ โดยการขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ทั้งนี้กรณีมีเงินได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

เมื่อซื้อวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือในการเปิดร้านกาแฟ

ภาษีที่เกี่ยวข้องมีดังนี้

ภาษีมูลค่าเพิ่ม: เมื่อได้รับใบกำกับภาษีจากผู้ขาย ให้เก็บเป็นหลักฐานในการรับรู้รายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ และกรณีเราเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ต้องเก็บเอาไว้เพื่อใช้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือน

กรณีที่เราจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน จะต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อ จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบด้วย

ภาษีศุลกากร:กรณีมีการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือในการประกอบธุรกิจ เรามีหน้าที่ต้องยื่นใบขนสินค้าขาเข้า โดยมีขั้นตอนดังนี้คือ

1.ลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) โดยลงทะเบียนเฉพาะครั้งแรกเท่านั้น 2.ผ่านพิธีการนำเข้าสินค้าโดยต้องศึกษาเรื่องพิกัดอัตราภาษีศุลกากรเพิ่มเติมตามแต่ละประเภทของสินค้าที่เรานำเข้ามาด้วย

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย: กรณีร้านมีการจ้างลูกจ้าง มีการเช่าสถานที่ตั้งร้าน หรือจ่ายซื้อแฟรนไชส์ จะต้องมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายด้วย

1.การจ้างลูกจ้าง ในกรณีที่เรามีลูกจ้าง เราต้องทำการเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากร ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ที่เราจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้าง หรือโบนัส ฯลฯ 2.การจัดหาสถานที่ตั้ง ผู้เช่าที่เป็นนิติบุคคล เมื่อจ่ายค่าเช่ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 3.การจ่ายค่าแฟรนไชส์ ผู้จ่ายที่เป็นนิติบุคคลเมื่อจ่ายค่าแฟรนไชส์ให้แก่ผู้รับที่เป็นนิติบุคคล มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากเจ้าของแฟรนไชส์ในฐานะเป็นเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์

ได้เวลาเปิดร้าน! ภาษีที่เกิดขึ้นมีดังนี้

ภาษีมูลค่าเพิ่ม: 1.ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อ 2.มีหน้าที่จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ รายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.30 ในแต่ละเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา: ผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง ได้แก่

1.ครั้งแรก ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.94 ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน สำหรับเงินได้ในเดือน มกราคม-มิถุนายน 2.ครั้งที่ 2 ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.90 ในเดือนมกราคม-มีนาคมของปีถัดไป สำหรับเงินได้ในเดือนมกราคม - ธันวาคม โดยนำภาษีที่จ่ายครั้งแรกมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ในครั้งที่ 2

ภาษีเงินได้นิติบุคคล: เราต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยต้องยื่นแบบชำระภาษีต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือทางอินเทอร์เน็ตปีละ 2 ครั้ง ได้แก่

1.ภาษีเงินได้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือน นับแต่วันครบ 6 เดือน ของรอบระยะเวลาบัญชี 2.ภาษีเงินได้สิ้นรอบระยะเวลาบัญชียื่นตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยนำภาษีที่จ่ายในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี

ที่มา: กรมสรรพากร

Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page
1272965523380705