1272965523380705 นอกตำรา1-เคสใหกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย | kasmethai 1272965523380705
top of page
Business

ภาษีนอกตำรา

เรื่องที่ 1: เหตุที่ทำให้สรรพากรไม่มีอำนาจประเมิน สำหรับเคสให้บริษัทฯ กู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย, เขียนโดย อ.ดำริ ดวงนภา

เรื่องที่ 1: เหตุที่ทำให้สรรพากรไม่มีอำนาจประเมิน สำหรับเคสให้บริษัทฯ กู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย

ก่อนเข้าประเด็นตามหัวข้อนี้ ขอชวนเพื่อนสมาชิกคัสเม่ และท่านผู้อ่านมาทบทวนเนื้อหาหลัก และแนวปฏิบัติ รวมถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในการใช้อำนาจตามมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งประมวลรัษฎากรกันก่อน เพราะจะทำให้ท่านมีความเข้าใจในหัวข้อนี้มากยิ่งขึ้น  กฎหมายมาตรานี้ เขียนไว้ว่า
   
“ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่โอน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน”

จากบทบัญญัติดังกล่าว สำหรับผู้ที่เป็นนักบัญชีภาษีอากรส่วนใหญ่ จะทราบกันดีจากประสบการณ์การทำงานว่า กรณีที่บริษัทฯ ให้บริษัทในเครือ หรือบริษัทอื่น ๆ หรือกรรมการ ให้ยืมเงิน หรือให้กู้ยืมเงิน แต่บริษัทฯ ไม่คิดดอกเบี้ย หรืออาจจะคิดดอกเบี้ย แต่คิดในอัตราที่ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร สรรพากรจะมีอำนาจ(ตามมาตรา 65 ทวิ(4)แห่งปรก.) ประเมินดอกเบี้ย ที่บริษัทฯ ควรจะได้รับตามอัตราราคาตลาดได้ ทั้งที่ความเป็นจริง บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ให้ยืมหรือให้กู้ยืม จะไม่ได้รับดอกเบี้ยเลย หรือได้รับดอกเบี้ยแต่ต่ำกว่าอัตราตลาด ซึ่งผลจากการประเมินของสรรพากร จะทำให้รายได้ในบัญชีภาษีอากรของบริษัทฯ เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมากขึ้นทั้งภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีเงินได้นิติบุคคล

เมื่อพิจารณาจากแนววินิจฉัยของสรรพากรที่ได้ตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้จำนวนมาก จะพบว่าในการใช้อำนาจประเมิน ทางสรรพากรมีเจตนารมณ์ เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีอากร โดยวิธีการสมยอมกัน ระหว่างบริษัทฯ ผู้ให้กู้และผู้กู้ ที่จะมีข้อตกลงกัน ไม่คิดดอกเบี้ย หรืออาจคิดแต่ใช้อัตราที่ต่ำกว่าราคาตลาด ในขณะการให้กู้ยืมเงินระหว่างกันนั้น  จากแนววินิจฉัยยังพบว่า ความหมายของคำว่า ยืม หรือให้กู้ยืม ในกรณีนี้ สรรพากรยังตีความรวมไปถึง กรณีที่บริษัทฯ มีการทดรองจ่ายเงินให้บริษัทในเครือ หรือบริษัทอื่นด้วย ทำให้การทดรองจ่ายดังกล่าว ถ้าเข้าลักษณะ กรณีไม่มีเหตุอันสมควรด้วยแล้ว สรรพากรก็มีอำนาจประเมินดอกเบี้ยได้ เช่น

กรณีบริษัทฯ ได้ทดรองเงินให้บริษัทในเครือไปโดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นค่าตอบแทน เข้าลักษณะให้กู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยโดยไม่มีเหตุอันสมควรเจ้าพนักงานประเมิน มีอำนาจประเมินดอกเบี้ยตามราคาตลาด ในวันที่ให้ยืมเงินนั้นได้ (กค 0804/2131-2กค.22) หรือ อีกตัวอย่างหนึ่ง บริษัทมีการเข้าค้ำประกันและจ่ายเงินแทนกัน ที่สรรพากรก็ตีความว่าเข้าลักษณะการกู้ยืมด้วย เช่น

บริษัท A และบริษัท B ประกอบกิจการนำเข้าเครื่องทำความร้อนจากต่างประเทศ บริษัท A ได้ค้ำประกันและจ่ายเงินแทนบริษัท B สำหรับค่าสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากบริษัท B เพิ่งเริ่มดำเนินการ ยังไม่ได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศ ในวิธีการดำเนินการทางธุรกิจ บริษัท B จะเป็นผู้ซื้อ และขายสินค้าเองทั้งหมด บริษัท A จะทำหน้าที่ เป็นผู้ค้ำประกันและจ่ายเงินแทน กรณีดังกล่าว เข้าลักษณะการให้กู้ยืมเงิน บริษัท A ต้องนำดอกเบี้ยจากการให้กู้มารวมคำนวณเป็นรายได้ของบริษัท หากการให้กู้ดังกล่าวไม่มีดอกเบี้ย หรือมีดอกเบี้ย แต่ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมิน มีอำนาจประเมินดอกเบี้ยตามราคาตลาดได้ (กค 0802/17592-15สค.34)
   
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เพื่อนนักบัญชีภาษีอากร ควรทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับอำนาจประเมินดอกเบี้ยตามราคาตลาด ควรรู้ความหมายของ คำว่า ราคาตลาด คืออะไร และอัตราดอกเบี้ยตามอัตราตลาด คืออัตราใด ซึ่งมีแนววินิจฉัยไว้ คือ

ในเรื่องราคาตลาด ศาลฎีกาได้เคยมีคำวินิจฉัย ให้ความหมายไว้ว่า เป็นราคาสินค้า หรือ บริการ ที่มีการซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไป ในขณะใดขณะหนึ่ง(ฎีกา 5639/2550)  ส่วนกรณีอัตราดอกเบี้ยตามราคาตลาด กรมสรรพากรได้เคยมีคำวินิจฉัย และให้แนวทางปฏิบัติในคำนวณ หรือประเมินดอกเบี้ยตามราคาตลาดไว้ ดังนี้
(ก)    ถ้านำเงินของบริษัทฯ ที่มีอยู่ไปให้กู้ยืม ให้คำนวณหรือประเมินดอกเบี้ย
ที่ควรได้รับตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำธนาคารในเวลาที่มีการกู้ยืม
(ข)    ในกรณีนำเงินที่กู้ยืมจากผู้อื่นไปให้กู้ยืม ให้คำนวณหรือประเมินดอกเบี้ย
ที่ควรได้รับตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ในเวลาที่มีการกู้ยืม
(ค)    การให้กู้ยืมไม่เต็มปี ให้เฉลี่ยตามจำนวนวันที่กู้ยืมเงิน ซึ่งบริษัทฯ ขาด
ประโยชน์อันควรจะได้ (กค 0802/936-10 กค.32)

ตามที่ได้ทบทวนกฎหมายประกอบคำอธิบาย พวกเราสรุปได้ว่า กรณีบริษัทฯ มีการให้กู้ยืม หรือการกระทำใด ๆ ที่เข้าลักษณะการให้กู้ยืม โดยไม่มีเหตุอันสมควร สรรพากรมีอำนาจประเมินได้  ส่วนการให้กู้ยืมของบริษัทฯ ในกรณีใดจึงเป็นเหตุให้สรรพากรไม่มีอำนาจประเมินนั้น พอจะแบ่งสาเหตุออกได้เป็น 2 กรณี คือ
1.เนื่องด้วยมีเหตุอันสมควร
2.เนื่องด้วยเหตุ อื่น ๆ

                  

(โปรดติดตามเรื่องที่ 1 ภาคจบในตอนหน้า)

*สงวนลิขสิทธิ์งานเขียน อ.ดำริ ดวงนภา ข้อมูลทุกรูปแบบที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ www.kasmethai.com และที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ภายใต้การดูแลของเว็บไซ์ www.kasmethai.com ห้ามคัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ หรือนำเนื้อหาส่วนหนึ่งส่วนใดในเว็บไซต์ www.kasmethai.com ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

bottom of page
1272965523380705