1272965523380705 บทความภาษีนอกตำรา4(5)-Online Seller ต้องรู้ภาษีภาษีมูลค่าเพิ่ม 1272965523380705
top of page
A woman looking at a cellphone with a laptop on the table

ภาษีนอกตำรา

เรื่องที่ 4: ภาษีที่ Online Seller ต้องรู้ และจะไม่รู้ก็ไม่ได้แล้ว

ตอนที่ 5: ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax)

เขียนโดย อ.ดำริ ดวงนภา

เรื่องที่ 4 ตอนที่ 5: ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax)

ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) เป็นภาษีทางอ้อม (Indirect Tax) ความหมายของภาษีทางอ้อม คือ ผู้เสียภาษีที่แท้จริงไม่ใช่ผู้ขายสินค้า หรือผู้ให้บริการ แต่จะเป็นผู้บริโภค ที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการนั้น เช่น ถ้าคุณเป็นผู้ขายสินค้า Online ที่จดทะเบียน VAT แล้ว เมื่อคุณซื้อสินค้ามาเพื่อขาย และได้รับใบกำกับภาษีมาด้วย คุณจะเห็นจำนวน VAT ในใบกำกับภาษีนั้น ภาษีนี้คุณสามารถขอคืนหรือ ขอเครดิตโดยนำไปหักออกจากภาษีขาย ก่อนการยื่นแบบภาษีรายเดือนได้ ต่างกับผู้บริโภคเมื่อซื้อสินค้าหรือบริการที่มี VAT เขาจะต้องรับภาระภาษีไว้เอง

ผู้ที่ต้องเข้าสู่ระบบ VAT ได้แก่ ผู้ประกอบการทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา และที่เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ ในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ คือทำเป็นอาชีพจริง ๆ และ มีรายได้ต่อปี  เกิน 1,800,000 บาท และอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเสีย VAT คือ ผู้นำเข้า ทั้งนี้ไม่ว่าผู้นำเข้า จะเป็นผู้ประกอบการหรือ เป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการก็ตาม ก็ต้องเสีย VATด้วย 

วิธีนับรายได้ต่อปีเกิน 1.8 ล้านบาท หรือไม่ กรณีบุคคลธรรมดาให้นับรวมรายได้ตามปีปฏิทินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ในปีเดียวกันไม่นับคล่อมปีเว้นแต่เริ่มธุรกิจใหม่ ก็ให้นับแต่วันเริ่มประกอบกิจการจนถึงวันสิ้นปีปฏิทิน ส่วนกรณีบริษัทฯ ให้นับตามรอบระยะเวลาบัญชี เว้นแต่ปีที่เริ่มกิจการก็ให้นับแต่วันเริ่มประกอบกิจการจนถึงวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี   

ภาษีมูลค่าเพิ่มมีกลไกสำคัญที่ผู้อยู่ในระบบ VAT ต้องจัดทำและออกให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งเมื่อมีการขายสินค้า หรือให้บริการที่เรียกว่าใบกำกับภาษี (Tax invoice) ที่อาจเป็นใบส่งสินค้า(invoice) หรือใบเสร็จรับเงิน(receipt)ก็ได้ และผู้ประกอบการที่จะออกเอกสารใบกำกับภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้  จะต้องเป็นผู้ที่จดทะเบียนเข้าสู่ระบบ VAT แล้วเท่านั้น 
 
กรณี Online Seller ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท มีสิทธิเลือกที่จะยังไม่เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้ แต่ถ้าปีใดมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท รายได้ส่วนที่เกิน1.8 ล้านนั้น จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและอยู่ในบังคับให้เข้าระบบ VATทันทีแม้คุณจะยังไม่ได้จดทะเบียนก็ตาม 

ฐานภาษี หรือตัวเลขที่ใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม คือมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ 

อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม  อัตราร้อยละ 10 แต่ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ อัตราร้อยละ 7

การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม 
เมื่อคุณจด VAT แล้ว คุณมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ หรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อกรมสรรพากร   มีสูตรการคำนวณดังนี้

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ = ภาษีขาย – ภาษีซื้อ

ภาษีขาย คือภาษีที่คุณผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT  เรียกเก็บมาจากผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการ เมื่อมีการขายสินค้า หรือให้บริการ 

ภาษีซื้อ คือภาษีที่คุณถูกผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT อื่นเรียกเก็บ เมื่อซื้อสินค้า หรือชำระค่าบริการ รวมถึงการซื้อสินค้าทุน ประเภทเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจด้วย

เมื่อพิจารณา จากสูตรการคำนวณ คุณจะพบว่า เดือนภาษีใดที่ภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ จะมีค่าเป็นบวก นั่นคือคุณต้องนำภาษีที่คุณเรียกเก็บมาไปส่งสรรพากร และเดือนภาษีใด ที่ภาษีขายน้อยกว่า ภาษีซื้อ แปลว่าคุณมีสิทธิขอคืนภาษีซื้อที่คุณจ่ายออกไป หรือขอนำไปเครดิต (หัก) ออกจากภาษีขายในเดือนถัดไปได้ ถึงตอนนี้คุณน่าจะเข้าใจได้แล้วว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาษีขาย หรือ ภาษีซื้อ ไม่ใช่รายได้ หรือค่าใช้จ่าย ของคุณ 

แบบที่ใช้ยื่นภาษี คือ แบบ ภ.พ.30 โดยต้องยื่นแบบเป็นรายเดือนภาษีทุกเดือน ไม่ว่าจะมีรายได้หรือไม่ก็ตาม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และมีอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า แบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม  แบบ ภ.พ.36 ต้องยื่นภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน ใช้สำหรับกรณีคุณมีการจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการให้กับบริษัทฯในต่างประเทศ ที่เข้ามาประกอบกิจการในไทยเป็นการชั่วคราวและไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ กรณีคุณมีการจ่ายค่าบริการให้กับบริษัทฯ ในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศไทย

ความรู้ในภาษีมูลค่าเพิ่ม จะทำให้คุณรู้ว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีทางอ้อม ผู้เสียภาษี คือผู้บริโภคคนสุดท้าย ไม่ใช่คุณผู้เป็นเจ้าของธุรกิจ ดังนั้นการวางแผนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการประหยัดภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะVAT ไม่ใช่ต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายของคุณหรือกิจการ จึงประหยัดไม่ได้

แต่สิ่งที่คุณควรระมัดระวังเมื่อจดทะเบียนVATแล้วคือต้องปฏิบัติหน้าที่ต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้ถูกต้องครบถ้วน เช่น การจดทะเบียน จัดเตรียมเอกสาร ออกใบกำกับภาษี การคำนวณภาษี และการยื่นแบบเสียภาษี การบัญชีและรายงาน และการจดเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ  เพราะถ้าคุณปฏิบัติผิดพลาด จะมีทั้งค่าปรับ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม(ดอกเบี้ย) สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ที่สำคัญค่าใช้จ่ายที่เกิดจาก VAT ที่ทำผิดพลาดนี้ เป็นรายจ่ายต้องห้ามในการนำไปหักในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงทำให้กำไรสุทธิของคุณสูงขึ้น ต้องเสียภาษีมากขึ้น

ในที่สุดภาษีนอกตำรา เรื่องภาษีที่ Online Seller ต้องรู้ และจะไม่รู้ก็ไม่ได้แล้ว ที่คุณได้อ่านติดตามโดยเริ่มตั้งแต่นักธุรกิจ Online Seller ที่เป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ Online บน e – Platform ต่างๆ ควรต้องเตรียมรับมือกันอย่างไร กับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการ e – Platform เก็บข้อมูลรายได้ของคุณตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ตามมาด้วยเรื่องรู้เขา รู้เรา รู้ทันพร้อมรับมือภาษี Online และภาษีที่ต้องรู้ตั้งแต่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล จนถึงภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นตอนสุดท้าย  ทั้งหมดนี้เป็นการปูพื้นฐานความรู้สำหรับ Online Seller เพื่อเตรียมรับมือกับการเสียภาษีธุรกิจให้ได้อย่างถูกต้อง ในส่วนของเทคนิคและวิธีปฏิบัติ ทางภาษีและ บัญชี  คุณอาจมีคำถามต่าง ๆ อีกมากมาย ตัวอย่างคำถาม เช่น 

เราควรทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือตั้งเป็นรูปแบบบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด และเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล อย่างไหนดีกว่ากัน มีหลักในการพิจารณาอย่างไร ?

ถ้าธุรกิจเป็นบุคคล เมื่อยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ควรเสียภาษีแบบหักเหมาจ่าย ดีกว่าหรือไม่เพราะไม่ต้องทำบัญชีก็ได้ หรือควรทำบัญชีดีกว่าเพื่อหักค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริง ?

กรณีตั้งธุรกิจเป็นนิติบุคคล ควรเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด มีข้อแตกต่างกันอย่างไร ทุนจดทะเบียนควรเป็นเท่าไร และจะคุ้มไหมเพราะจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำบัญชีเพราะเหตุใด ?

กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม คำถามที่นักธุรกิจ ใหม่จะถามกันมากก็คือ ถ้าเริ่มประกอบธุรกิจใหม่ หรือแม้แต่ได้ประกอบธุรกิจอยู่แล้ว แต่ยังไม่อยู่ในบังคับที่กฎหมายให้จดทะเบียน VATเนื่องจากรายได้ต่อปียังไม่เกิน 1.8 ล้านบาท ควรจดทะเบียนVATเลยหรือไม่ หรือ ควรรอไปก่อน มีหลักเกณฑ์อย่างใดในการพิจารณา ?

บัญชี และรายงาน ต้องทำบัญชี รายงานอะไรบ้าง และเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ต้องจัดเตรียม จัดทำและจัดเก็บกันอย่างไร  ?

มารับฟังคำตอบ จากคำถามต่าง ๆ เหล่านี้ พร้อมกับเทคนิคในการวิเคราะห์เปรียบเทียบ เพื่อหาคำตอบได้ด้วยตัวคุณเอง ในวันอบรม

ติดตามวันอบรมได้ที่ www.kasmethai.com

หรือผ่านทาง Facebook: https://www.facebook.com/kasmeco

TikTok: https://www.tiktok.com/@kasmethai

เข้ากลุ่มกระดานภาษี: https://line.me/R/ti/g/DlqY6Gld8E

LINE: KASMETHAI , E-mail: mykasme@gmail.com, โทร.033 060 395

อบรมบัญชี อบรมภาษี เรียนรู้บัญชี เรียนรู้ภาษี สรรพากร สภาวิชาชีพบัญชี สถาบันKASME สถาบันคัสเม่ เก็บชั่วโมงอบรม นับชั่วโมงอบรม อบรมบัญชีระยอง อบรมบัญชีกรุงเทพ อบรมบัญชีชลบุรี อบรมบัญชีจันทบุรี อบรมภาษีระยอง อบรมภาษีชลบุรี อบรมภาษีจันทบุรี อบรมภาษีกรุงเทพ กฏหมายภาษี มาตรฐานการบัญชี อาจารย์ดำริดวงนภา TaxAuditor สำนักงานประกันสังคม ภาษี บัญชี สรรพากร สำนักงานบัญชีระยอง ระยอง

1.jpg

KASME Course

Online Seller ต้องรู้ เมื่อระบบ e-Tax System กำลังไล่ล่าคุณ

Learn More
Online seller.jpg

KASME Course

TAX TALK ภาษีนอกตำรา + UPDATE กฏหมายภาษี

*สงวนลิขสิทธิ์งานเขียน อ.ดำริ ดวงนภา ข้อมูลทุกรูปแบบที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ www.kasmethai.com และที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ภายใต้การดูแลของเว็บไซ์ www.kasmethai.com ห้ามคัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ หรือนำเนื้อหาส่วนหนึ่งส่วนใดในเว็บไซต์ www.kasmethai.com ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

bottom of page
1272965523380705