1272965523380705 บทความภาษีนอกตำรา4(3)- Online Seller ต้องเสียภาษีอะไร อย่างไร? | kasmethai 1272965523380705
top of page
A woman smiling while working

ภาษีนอกตำรา

เรื่องที่ 4: ภาษีที่ Online Seller ต้องรู้ และจะไม่รู้ก็ไม่ได้แล้ว

ตอนที่ 3: Online Seller ต้องเสียภาษีอะไร อย่างไร? 

เขียนโดย อ.ดำริ ดวงนภา

เรื่องที่ 4 ตอนที่ 3: Online Seller ต้องเสียภาษีอะไร อย่างไร?

เมื่อรู้เขา(สรรพากร) และรู้เรา(ตัวคุณเอง)แล้ว เรื่องต่อไปคุณควรมาศึกษาให้รู้ภาษีที่กฎหมายกำหนดหน้าที่ให้ต้องเสีย ภาษีที่สรรพากรจัดเก็บอยู่ในขณะนี้มีหลายประเภท เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และภาษีหัก ณ ที่จ่าย แต่ภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของ Online Seller ที่เป็นผู้ขายสินค้า online บน e-Platform ที่คุณควรต้องรู้ก่อนภาษีประเภทอื่น เนื่องจากสรรพากรกำลังไล่จัดเก็บภาษี จากธุรกิจ Online นี้เป็นลำดับแรก คือ ภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม คัสเม่ขอพาพวกเรามารู้จักกับ โครงสร้างที่เป็นตัวแบบ หรือลักษณะ ของภาษีทั้ง 2 ตัวนี้กันว่า คืออะไร  และเมื่อต้องเสียภาษี มีวิธีคิดคำนวณกันอย่างไร

ตอนที่ 3 ภาษีเงินได้ (Income Tax)

ภาษีเงินได้ ถือเป็นภาษีทางตรง(Direct Tax) จัดเก็บจากผู้มีเงินได้ หลักการของภาษีนี้คือ  ผู้ใดมีเงินได้ผู้นั้นเป็นผู้เสียภาษี และเมื่อมีเงินได้มากก็จะต้องเสียภาษีมากไปด้วย บุคคลที่มีเงินได้เป็นผู้รับภาระภาษีเอง จะไม่สามารถผลักภาระภาษีไปให้กับบุคคลอื่นได้จึงเรียกกันว่า ภาษีทางตรง  สำหรับคุณที่เริ่มเข้ามาเรียนรู้ภาษีควรรู้เบื้องต้นว่า คำว่าเงินได้ ที่ต้องเสียภาษีนั้น มิใช่ว่าจะต้องเป็นสิ่งที่คุณได้รับเป็นเงินเท่านั้น จึงต้องนำไปเสียภาษี ! แต่เงินได้ ยังมีความหมายรวมถึง ทรัพย์สิน และประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ที่อาจคิดคำนวณได้เป็นเงินด้วย  เรื่องที่สำคัญ ที่ควรรู้ต่อไป ก็คือ ประเภทเงินได้พึงประเมิน ที่สรรพากรจัดเก็บภาษีนั้น ยังถูกแบ่งออกเป็น 8 ประเภทได้แก่ 

1.เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยงฯ (เงินได้ตามลักษณะนี้จะมีนายจ้างกับ ลูกจ้าง) 
2.ค่าจ้าง ค่ารับทำงานให้ฯ(เงินได้ตามลักษณะนี้จะมีผู้ว่าจ้างกับ ผู้รับจ้าง) 
3.ค่าลิขสิทธิ์ ค่าสิทธิ ค่ากู๊ดวิลล์ 
4.ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร ฯ  
5.ค่าเช่าทรัพย์สิน เช่นบ้าน ที่ดิน รถยนต์ ฯ 
6.วิชาชีพอิสระ เช่น กฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม ฯ  
7.เงินได้จากการรับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ
8.การธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม ฯ 
 
สำหรับรายได้ของ Online Seller ที่ขายสินค้าบน e – Platform ถือเป็นเงินได้จากการธุรกิจ ตามประเภทที่ 8 เหตุที่ต้องรู้ว่าเงินได้ที่คุณได้รับเป็นเงินได้ประเภทใดนั้น มีความสำคัญมาก เพราะประเภทของเงินได้จะเกี่ยวข้องกับวิธีการคำนวณภาษี และเกี่ยวข้องกับจำนวนค่าใช้จ่าย ที่กฎหมายยินยอมให้หัก ในการคำนวณภาษีของคุณ

มารู้กันต่อในเรื่องภาษีเงินได้ ภาษีเงินได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้เป็น Online Seller จะต้องเสียภาษีเงินได้ตัวไหนขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจที่คุณทำ ถ้าคุณทำธุรกิจในนามบุคคลก็เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าคุณทำธุรกิจในนามนิติบุคคล(มีการจดทะเบียนจัดตั้งกับกรมพัฒนาธุรกิจฯแล้ว) ที่เรียกว่า บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ก็จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล   ต่อไปนี้ เป็นการสรุปหลักการสำคัญของภาษีเงินได้ เพื่อให้คุณเข้าใจลักษณะของภาษีทั้งสองประเภท คุณจะทราบว่ามูลค่าหรือตัวเลขซึ่งในกฎหมายภาษีเราเรียกว่า ฐานภาษี ที่ใช้ในการคำนวณภาษี มีที่มาจากที่ไหน อัตราภาษีที่ต้องเสียคือเท่าใด  และมีวิธีการคำนวณหาภาษีที่ต้องเสียอย่างไร ดังนี้


ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax)

ฐานภาษี หรือตัวเลขที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี ของแต่ละบุคคล เราเรียกว่า เงินได้สุทธิ  มีที่มาจากสูตรการคำนวณง่าย ๆ ดังนี้ 


เงินได้สุทธิ = เงินได้ทั้งปี - ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน – เงินบริจาค

จากสูตรการคำนวณ จะพบว่า เงินได้ที่บุคคลธรรมดาต้องนำไปใช้ในการคำนวณเสียภาษี จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิที่ได้มาจากสมการการคำนวณ ว่ามีจำนวนมากหรือน้อยเพียงใด ถ้าเงินได้สุทธิมากก็จะเสียภาษีมาก ถ้าเงินได้สุทธิเหลือน้อย ก็จะเสียภาษีน้อยหรืออาจไม่มีภาษีเลยก็ได้ ทีนี้ขอให้มาทำความเข้าใจความหมายของคำ ที่อยู่ด้านขวามือของสูตรคำนวณกัน

เงินได้ทั้งปี คือเงินได้พึงประเมินทุกประเภทรวมกันตลอดปีภาษี(มกราคม -ธันวาคม) ของผู้มีเงินได้ ถ้าคุณมีเงินได้อย่างอื่นนอกจากเงินได้จากการขายonlineบน e-Platform ก็ต้องนำมารวมคำนวณภาษีด้วย(จะยกเว้นเฉพาะเงินได้ที่กฎหมายยกเว้นภาษีให้เท่านั้น) 

ค่าใช้จ่าย ถือเป็นต้นทุนหรือเงินที่จ่ายออกไปเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ การหักค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ว่าเป็นเงินได้ประเภทใดใน 8 ประเภท การหักค่าใช้จ่ายแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราตายตัว ตามร้อยละที่กำหนดของยอดเงินได้(มีทั้งที่กำหนดเพดานสูงสุดไว้ และไม่ได้กำหนดเพดาน) และการหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ที่เรียกว่าหักค่าใช้จ่ายจริงตามหลักฐานที่มีอยู่จริง 

ดังได้กล่าวแล้วว่า ประเภทของเงินได้เกี่ยวข้องกับวิธีคำนวณภาษีและการหักค่าใช้จ่าย เช่น 

เงินได้ประเภทที่ 1และ 2 ให้หักเหมาในอัตราร้อยละที่กำหนดได้อย่างเดียวและกำหนดเพดานไว้ ทั้งสองประเภทรวมกันหักได้ร้อยละ 50 ไม่เกิน 100,000 บาท 


เงินได้ประเภทที่ 3 จะเลือกหักเหมาหรือจะหักค่าใช้จ่ายจริงตามหลักฐานก็ได้

เงินได้ประเภทที่ 4 ไม่ยินยอมให้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น


เงินได้ประเภทที่ 5 ,6,7 และประเภทที่ 8  จะเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาตามอัตราร้อยละที่กำหนด หรือหักค่าใช้จ่ายจริงตามหลักฐานก็ได้ 

กรณีรายได้จากการขาย ของ Online Seller ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8  คุณจึงมีสิทธิเลือก หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราที่กำหนด คือ ร้อยละ 60 ของรายได้ไม่กำหนดเพดานของค่าใช้จ่าย หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายจริง ตามหลักฐานที่มีพร้อมให้พนักงานตรวจก็ได้

ค่าลดหย่อน มีจำนวนหลายรายการที่กฎหมายยอมให้นำไปหักจากเงินได้เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้คุณเสียภาษีน้อยลง หรืออาจไม่ต้องเสียภาษีก็ได้  ที่เรารู้จักกันดี เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัวของผู้มีเงินได้ ค่าลดหย่อนคู่สมรส ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่อาศัย ค่าลดหย่อนการซื้อหน่วยลงทุน ฯลฯ ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อรู้จำนวนค่าลดหย่อนที่กฎหมายยอมให้หักได้ในคำอธิบายการกรอกแบบภงด.90 ของกรมสรรพากร

เงินบริจาค การกุศลสาธารณะ สถานศึกษา สถานพยาบาล เช่น  วัด โรงเรียน โรงพยาบาล หรืออื่นๆตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดก็สามารถนำไปหักลดหย่อนได้อีกตามจำนวนเงินที่บริจาคจริง แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือจากการหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

เงินได้สุทธิที่ได้จากการคำนวณ จะได้รับการยกเว้นภาษีในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท สำหรับเงินได้สุทธิส่วนที่เกิน 150,000 บาท จะต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าเป็นขั้นบันได ตามขั้นของเงินได้สุทธิ 

อัตราภาษี ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นขั้นบันไดตามช่วงของเงินได้สุทธิ เริ่มตั้งแต่ ร้อยละ5,10,15,20,25,30,จนถึงอัตราสูงสุดร้อยละ 35 เช่นเงินได้สุทธิตั้งแต่ 1-300,000 บาท อัตราร้อยละ 5 เงินได้สุทธิ ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปอัตราร้อยละ 35  ดูรายละเอียดได้จากตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามี 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1 ภาษีที่ต้องชำระ = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี
วิธีที่ 2 ภาษีที่ต้องชำระ = เงินได้พึงประเมิน x 0.005   


ในการคำนวณของ วิธีที่ 2  จะนำเงินได้ทุกประเภทมารวมกัน(แต่ไม่รวมเงินได้ประเภทที่ 1)และ ถ้าคำนวณแล้วภาษีที่ได้ไม่เกิน 5,000 บาท จะได้ยกเว้นภาษี 


เมื่อคำนวณทั้งสองวิธีแล้วต้องเปรียบเทียบ และให้เสียภาษีจากวิธีที่มีภาษีสูงกว่า!
 
แบบที่ใช้ยื่นภาษี สำหรับ Online Seller ที่เป็นบุคคลธรรมดา ใช้ แบบภ.ง.ด.90 ในการยื่นแบบภาษีประจำปี โดยยื่นแบบภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป และใช้แบบ ภ.ง.ด.94 สำหรับภาษีครึ่งปี โดยต้องยื่นแบบภายในเดือนกันยายน ของทุกปี
   
ติดตาม ตอนที่ 4 Online Seller ต้องรู้ภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ในตอนต่อไปครับ

อบรมบัญชี อบรมภาษี เรียนรู้บัญชี เรียนรู้ภาษี สรรพากร สภาวิชาชีพบัญชี สถาบันKASME สถาบันคัสเม่ เก็บชั่วโมงอบรม นับชั่วโมงอบรม อบรมบัญชีระยอง อบรมบัญชีกรุงเทพ อบรมบัญชีชลบุรี อบรมบัญชีจันทบุรี อบรมภาษีระยอง อบรมภาษีชลบุรี อบรมภาษีจันทบุรี อบรมภาษีกรุงเทพ กฏหมายภาษี มาตรฐานการบัญชี อาจารย์ดำริดวงนภา TaxAuditor สำนักงานประกันสังคม ภาษี บัญชี สรรพากร สำนักงานบัญชีระยอง ระยอง

1.jpg

KASME Course

Online Seller ต้องรู้ เมื่อระบบ e-Tax System กำลังไล่ล่าคุณ

Learn More
Online seller.jpg

KASME Course

TAX TALK ภาษีนอกตำรา + UPDATE กฏหมายภาษี

*สงวนลิขสิทธิ์งานเขียน อ.ดำริ ดวงนภา ข้อมูลทุกรูปแบบที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ www.kasmethai.com และที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ภายใต้การดูแลของเว็บไซ์ www.kasmethai.com ห้ามคัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ หรือนำเนื้อหาส่วนหนึ่งส่วนใดในเว็บไซต์ www.kasmethai.com ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

bottom of page
1272965523380705