KASME
The Institute of Effective Training for SMEs.
สถาบันฝึกอบรมบัญชีภาษีการเงินการลงทุน ระยอง|ชลบุรี|กทม.
บริษัท คัสเม่ จำกัด: หมายเลขผู้เสียภาษี 0215548001661
รหัสสถาบัน 06-153(สภาฯบัญชี) รหัสองค์กร 3-0011(กรมสรรพากร)
Tel & Fax:(033) 060-395,099 289 8974
ภาษีนอกตำรา
เรื่องที่ 3: หักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ด้วยวิธีการแบบนี้ก็ได้ด้วยหรือ??
เขียนโดย อ.ดำริ ดวงนภา
เรื่องที่ 3: หักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ด้วยวิธีการแบบนี้ก็ได้ด้วยหรือ??
ก่อนจะไปถึงวิธีการคำนวณหักค่าเสื่อม ผู้เขียนขอชวนสมาชิกและท่านผู้อ่านให้รู้จักกับความหมายสำคัญของเรื่องนี้กันก่อน ค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน หรือสินทรัพย์(ศัพท์ของบัญชี) คือ ค่าใช้จ่ายตัวหนึ่งที่มาจากการตัดมูลค่าของทรัพย์สิน(ที่มีการเสื่อมค่า)ออกมาเป็นงวด ๆ ตลอดอายุการใช้งานของทรัพย์สินนั้น(ยกเว้นที่ดินที่ไม่เสื่อมค่า) แนวคิดในการตัดค่าเสื่อมราคานี้ ก็เพื่อให้ค่าใช้จ่ายที่เกิดในแต่ละงวด มีความสัมพันธ์กับอายุการใช้งานของทรัพย์สิน เช่นเดียวกับหลักการจับคู่ของรายได้และค่าใช้จ่าย(Matching Principle)
เราลองคิดดูถ้ากิจการลงทุนซื้อ เครื่องจักรมาเพื่อใช้งาน ราคา 20 ล้านบาท และบันทึกลงบัญชี เป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดในปีที่ซื้อก็อาจทำให้ขาดทุนอย่างมาก ส่วนปีต่อไปอาจจะกำไรสูงเกินปกติ ซึ่งหลักการทยอยตัดค่าใช้จ่ายนี้ ทั้งกฎหมายบัญชีและภาษีต่างมีความเห็นตรงกันว่า ให้ใช้กับทรัพย์สิน ที่ให้ประโยชน์แก่กิจการเกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี(เกิน1ปี) และให้คิดค่าเสื่อมราคาทันทีในวันที่ได้ทรัพย์สินมา หรือเมื่อสร้างทรัพย์สินเสร็จพร้อมใช้งาน และใช้อัตรา(หรือจำนวนปี) ตามที่สรรพากรกำหนด
ที่ได้กล่าวมาเป็นแนวคิด และหลักการเบื้องต้นของที่มาของคำว่า ค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ส่วนวิธีปฏิบัติในการคำนวณหักค่าเสื่อมราคา ก็มีปัญหาและคำถามที่พบกันอยู่บ่อย ๆ แนวคำตอบส่วนมากจะอยู่ในกรอบของหลักบัญชี และหลักภาษี แต่บางคำตอบอาจไม่มีกฎหมายเขียนรองรับไว้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีกฎหมายห้ามไว้เช่นกัน เมื่อไม่มีอะไรที่ขัดกับกฎหมาย จึงมีการนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติได้ ซึ่งคัสเม่ได้มีตัวอย่าง มาให้สมาชิกและท่านผู้อ่าน ได้อ่านกัน ดังแนววินิจฉัย ของกรมสรรพากร ตามกรณีคำถามต่าง ๆ กัน ดังต่อไปนี้
บริษัทฯ จะหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินในอัตราที่สูงกว่า หรือต่ำกว่าที่สรรพากรกำหนดได้หรือไม่ ?
ประเด็นนี้ สรรพากรได้เคยตอบข้อหารือ เรื่องอัตราค่าเสื่อมราคาที่ใช้หัก โดยยอมให้บริษัทฯ หักในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายสรรพากรกำหนดได้(ทำให้อายุการใช้งานของทรัพย์สินยาวขึ้น) แต่จะต้องเป็นวิธีการ ที่ทางบัญชีได้ให้การรับรองด้วย ส่วนการหักค่าเสื่อมในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่กฎหมายสรรพากรกำหนด นั้น (ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง) สรรพากรไม่ยินยอม ตัวอย่าง เช่น
กรณีที่ บริษัทฯ เลือกใช้อัตราหักค่าเสื่อมราคาเพื่อการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิตามบัญชี หากวิธีการทางบัญชีซึ่งบริษัทใช้อยู่ หักต่ำกว่าอัตราตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 145 ก็ให้หักเพียงเท่าอัตราตามวิธีการทางบัญชีที่บริษัทฯใช้อยู่ อีกตัวอย่างหนึ่ง กรณีเครื่องจักรเตาหลอมของบริษัทฯ เพื่อใช้ในการผลิตมีอายุการใช้งานได้เพียง 4 ปี แล้วจะต้องสร้างเตาหลอมใหม่ ไม่อาจอนุมัติให้บริษัทฯ หักค่าเสื่อมราคาภายใน 4 ปีได้ เพราะจำนวนปีของการใช้ทรัพย์สินต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี ตามมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 145
ประเด็นต่อมา ทรัพย์สินชนิดและประเภทเดียวกัน แต่ได้มาต่างเวลากัน จะคำนวณค่าเสื่อมราคาอัตราที่แตกต่างกันได้ไหม ?
เรื่องนี้สรรพากร มีคำวินิจฉัยไว้หลายครั้งว่า บริษัทฯ อาจหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสำหรับทรัพย์สินที่ได้มาใหม่ แตกต่างจากวิธีการทางบัญชีที่ใช้อยู่เดิมก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้อัตราเท่ากับทรัพย์สินอย่างเดียวกับที่มีอยู่ก่อน เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับไว้ จากคำวินิจฉัยนี้ ทำให้กิจการสามารถเลือกปฏิบัติได้ เช่น เครื่องจักรที่ใช้อยู่ก่อนในโรงงานเคยตัดค่าเสื่อมเป็นเวลา 10 ปี หรือ อัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าต้นทุน ต่อมาได้ซื้อเครื่องจักรใหม่ ที่เป็นประเภทและชนิดเดียวกันมา กิจการจะเลือกตัดค่าเสื่อม5 ปีหรือร้อยละ20 ของมูลค่าต้นทุนต่างจากเดิมก็กระทำได้
อย่างไรก็ตามขอให้ระวังว่าวิธีที่เลือกใช้ อัตราค่าเสื่อมจะต้องไม่สูงกว่าอัตราที่สรรพากรกำหนดด้วย เช่นเครื่องจักรใหม่ จะตัดอย่างไรก็ต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี อีกเรื่องหนึ่ง ที่ควรทำความเข้าใจให้ดีก็คือ กรณีที่กิจการจะใช้อัตราที่แตกต่างกันได้เช่นนี้ เป็นคนละกรณีกับการขอเปลี่ยนแปลงอัตราค่าเสื่อม สำหรับทรัพย์สินที่ใช้อยู่แต่เดิม เนื่องจากกฎหมายเขียนไว้ว่า เมื่อบริษัทฯ ได้เลือกใช้วิธีการหักค่าเสื่อมราคาทางบัญชีที่รับรองทั่วไป และเลือกใช้อัตราใดแล้ว ให้ใช้วิธีอัตรานั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงจากอธิบดีกรมสรรพากร และให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัตินั้นเป็นต้นไป
ดังนั้น การขอเปลี่ยนอัตราหักค่าเสื่อมราคาจะต้องมีการขออนุมัติก่อน ดูตัวอย่างที่กรมสรรพากรเคยวินิจฉัย
เมื่อบริษัทฯ นำเครื่องจักรมาใช้ในโรงงานตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชี ปี 2555 และได้เลือกใช้วิธีการคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในทางบัญชีและภาษีของเครื่องจักรในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุน บริษัทฯ จึงต้องใช้วิธีการทางบัญชี และอัตรานั้นตลอดไป อย่างไรก็ดีหากบริษัทฯ มีความประสงค์จะเปลี่ยนอัตราค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา จากอัตราร้อยละ 20 เป็นอัตราร้อยละ 10 ตามที่วิศวกรประเมินอายุการใช้งานของเครื่องจักรว่าควรมีอายุการใช้งาน ถึง 10 ปี ก็กระทำได้โดยยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร
ปัญหาในวิธีการหักค่าเสื่อมราคา บางกรณีเกี่ยวกับสินทรัพย์ไม่มีตัวตน(ศัพท์บัญชี) สินทรัพย์ไม่มีตัวตนนี้ ต้องตัดค่าเสื่อมด้วย แต่เราเรียกว่า ค่าตัดจำหน่าย เช่นค่าสิทธิใบอนุญาตที่มีกำหนดเวลาอายุการใช้ประโยชน์ที่มีจำนวนปีที่แน่นอน และมีการตัดจำหน่ายไปแล้วหลายปี ต่อมามีการต่ออายุใบอนุญาตออกไปอีก บริษัทฯ จะมีวิธีการคำนวณการตัดจำหน่ายต่อไปอย่างไร ? มีตัวอย่างแนวคำวินิจฉัย เช่น
ในกรณีบริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการมีกำหนดเวลา 10 ปี จึงหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าต้นทุน เมื่อหักไปได้ 3 ปี บริษัทฯ ได้รับให้ต่ออายุใบอนุญาตไปอีก 7 ปี รวมคงเหลือเป็น 14 ปี ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป บริษัทฯ จะขอหักในอัตราร้อยละ 1/14 ของมูลค่าต้นทุนก็ให้ปฏิบัติได้ แต่ให้ถือราคาครั้งสุดท้ายเป็นมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สิน
ขอจบเรื่องหลักการ ที่มาของค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน และหลากหลายประเด็นในวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาไว้เพียงเท่านี้ ส่วนภาษีนอกตำรา ของทรัพย์สินและค่าเสื่อมราคายังมีต่อครับ ยังไม่จบแล้วพบกันใหม่ ในตอนต่อไปกับ ภาษีนอกตำรา: Ep.4 คิดค่าเสื่อมกันให้ถูกวิธี กับประเด็นของทรัพย์สินที่คุณอาจไม่รู้มาก่อน ?
อบรมบัญชี อบรมภาษี เรียนรู้บัญชี เรียนรู้ภาษี สรรพากร สภาวิชาชีพบัญชี สถาบันKASME สถาบันคัสเม่ เก็บชั่วโมงอบรม นับชั่วโมงอบรม อบรมบัญชีระยอง อบรมบัญชีกรุงเทพ อบรมบัญชีชลบุรี อบรมบัญชีจันทบุรี อบรมภาษีระยอง อบรมภาษีชลบุรี อบรมภาษีจันทบุรี อบรมภาษีกรุงเทพ กฏหมายภาษี มาตรฐานการบัญชี อาจารย์ดำริดวงนภา TaxAuditor สำนักงานประกันสังคม ภาษี บัญชี สรรพากร สำนักงานบัญชีระยอง ระยอง
*สงวนลิขสิทธิ์งานเขียน อ.ดำริ ดวงนภา ข้อมูลทุกรูปแบบที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ www.kasmethai.com และที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ภายใต้การดูแลของเว็บไซ์ www.kasmethai.com ห้ามคัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ หรือนำเนื้อหาส่วนหนึ่งส่วนใดในเว็บไซต์ www.kasmethai.com ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร