KASME
The Institute of Effective Training for SMEs.
สถาบันฝึกอบรมบัญชีภาษีการเงินการลงทุน ระยอง|ชลบุรี|กทม.
บริษัท คัสเม่ จำกัด: หมายเลขผู้เสียภาษี 0215548001661
รหัสสถาบัน 06-153(สภาฯบัญชี) รหัสองค์กร 3-0011(กรมสรรพากร)
Tel & Fax:(033) 060-395,099 289 8974
ภาษีนอกตำรา
เรื่องที่ 4: ภาษีที่ Online Seller ต้องรู้ และจะไม่รู้ก็ไม่ได้แล้ว
ตอนที่ 4: ภาษีเงินได้นิติบุคคล(Corporate Income Tax)
เขียนโดย อ.ดำริ ดวงนภา
เรื่องที่ 4 ตอนที่ 4: ภาษีเงินได้นิติบุคคล(Corporate Income Tax)
ถ้าคุณเป็นผู้ขาย Online ที่มีการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อดำเนินธุรกิจในรูปแบบของบริษัท จำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทฯ ของคุณก็จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนี้ ขอย้ำว่าผู้เสียภาษีเป็นบริษัทฯ ของคุณ ไม่ใช่ตัวคุณเอง เนื่องจากการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล จะทำให้เกิดมีบุคคลขึ้นใหม่ที่มีสิทธิและหน้าที่แยกออกจากผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งก็คือ บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่ตั้งขึ้นใหม่นั่นเอง ดังนั้นการเสียภาษีเงินได้ของนิติบุคคล จึงแยกออกมาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต่อไปนี้เป็นหลักการพื้นฐานของภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่คุณควรรู้
ฐานภาษี หรือมูลค่าตัวเลข ที่ใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ของOnline Seller ที่ทำธุรกิจในรูปบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ได้แก่ กำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชี ที่คำนวณมาจากรายได้ทั้งหมดหักด้วยรายจ่ายทั้งหมด ของกิจการในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี มีสูตรคำนวณ ดังนี้
กำไร(ขาดทุน) สุทธิประจำปี = รายได้ – รายจ่าย ของทั้งรอบระยะเวลาบัญชี
เราจะได้ กำไร(ขาดทุน)สุทธิ มา เมื่อมีการปิดบัญชีประจำปีแล้ว ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งรอบบัญชีปกติจะมี 12 เดือน หลังปิดบัญชี ถ้ารายได้มากกว่ารายจ่ายก็จะมีกำไรสุทธิที่จะต้องนำไปใช้ ในการคำนวณภาษีต่อไป แต่ถ้ารายได้น้อยกว่ารายจ่าย ก็จะมี ขาดทุนสุทธิ กรณีขาดทุนสุทธิ จะทำให้ในปีนั้นบริษัทฯ ไม่ต้องเสียภาษี และยังสามารถนำผลขาดทุน ไปใช้หักออกจากกำไรสุทธิ(ถ้ามี)ในปีถัดไปได้อีกได้ไม่เกิน 5 ปี ต่อไปเรามาทำความเข้าใจ ความหมายของคำ ที่อยู่ด้านขวามือของสูตรคำนวณกันต่อ
รายได้ คำว่า รายได้ เป็นคำที่ใช้กับภาษีเงินได้นิติบุคคล ขอให้คุณสังเกตให้ดีในตอนที่ 3 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เราใช้คำว่า เงินได้ จึงอาจมีคำถามว่า คำว่าเงินได้ และรายได้ มีความหมายเหมือนกันหรือไม่ เรื่องนี้มีข้อยุติในทางกฎหมายแล้วว่า คำว่า เงินได้ ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ รายได้ ของภาษีเงินได้นิติบุคคล มีความหมายเช่นเดียวกันกับคำว่า เงินได้พึงประเมิน ดังนั้นจะเรียกว่าเงินได้ หรือ รายได้ ก็มีความหมายเดียวกัน เพียงแต่เรียกชื่อต่างกันในสองประเภทภาษีนี้เท่านั้น
รายได้ของนิติบุคคล หมายถึงรายได้จากกิจการ ที่เกิดจากการขายสินค้าหรือให้บริการโดยปกติ ของธุรกิจ ทั้งรอบระยะเวลาบัญชี และ ยังรวมถึงรายได้เนื่องจากกิจการ ที่อาจเกิดจากรายได้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่มาจากการขายสินค้าโดยตรงด้วย เช่น รายได้ดอกเบี้ย รายได้จากการขายทรัพย์สิน ของบริษัทฯ ดังนั้นเวลานำรายได้ไปรวมคำนวณภาษี จึงต้องรวมรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชี จะมียกเว้นเฉพาะรายได้ ที่ได้รับยกเว้นภาษีเท่านั้น ที่ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณ
รายจ่าย ถือเป็นค่าใช้จ่าย นำไปหักออกจากรายได้ในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ ประเด็นสำคัญ ที่คุณควรรู้เบื้องต้น คือ ในทางบัญชี กรณีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการทำธุรกิจ คุณสามารถนำไปหักจากรายได้ของบริษัทฯ ได้ทั้งหมด แต่ในทางภาษีไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางบัญชีบางรายการ จะไม่สามารถนำไปหักออกจากรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายจำพวกนี้จะถูกเรียกว่า รายจ่ายต้องห้าม (ตามมาตรา65ตรี มีอยู่ 20 รายการ) เช่น รายจ่ายส่วนตัว รายจ่ายที่ไม่มีใบเสร็จ หรือมีใบเสร็จแต่ไม่ถูกต้อง หรือไม่มีหลักฐานมายืนยันการจ่ายได้ เราอาจให้คำนิยาม ของรายจ่ายที่ทางภาษียอมให้นำไปหักออกจากรายได้ คือ
“ รายจ่ายที่เกิดขึ้นโดยปกติจำเป็นในทางธุรกิจของกิจการเพื่อการหากำไรหรือหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายทางตรงหรือรายจ่ายทางอ้อม โดยมีหลักฐานพิสูจน์ และ จะต้องไม่ใช่รายจ่ายต้องห้าม ตามประมวลรัษฎากร”
ข้อควรรู้ต่อมา ในการนำรายจ่ายไปหักออกจากรายได้ คือ รายจ่ายมี 2 ประเภท ได้แก่ รายจ่ายเพื่อหากำไร และ รายจ่ายที่เป็นการลงทุน รายจ่ายทั้งสองประเภท มีวิธีการนำไปใช้ในการหักรายได้ ดังนี้
รายจ่ายเพื่อการหากำไร เช่น ต้นทุนสินค้าที่ขาย ค่าซื้อสินค้า ค่าภาชนะบรรจุค่าวัสดุหีบห่อ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เงินเดือนลูกจ้าง ค่าพาหนะ ค่าขนส่ง ค่าเช่า ค่าโฆษณา ฯลฯ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เหล่านี้ ใช้หมดสิ้นเปลืองไป ในหนึ่งปีจึงสามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายทั้งจำนวน ในรอบระยะเวลาบัญชี
รายจ่ายที่เป็นการลงทุน เช่น ทรัพย์สินที่ซื้อมาเพื่อใช้ในการทำธุรกิจ และมีอายุการใช้งานหรือให้ประโยชน์ เกิน 1 ปี ที่เรียกกันว่าสินทรัพย์ถาวร เช่น รถยนต์ เครื่องมือ เครื่องใช้สำนักงาน อุปกรณ์ต่าง ๆ รายจ่ายประเภทนี้ จะหักเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีไม่ได้ ต้องทยอยหักเป็นปี ๆ ไป ในรูปของค่าสึกหรอ และ ค่าเสื่อมราคา
อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั่วไป คือ อัตราภาษี ร้อยละ 20
กรณีบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่เป็น SMEs คือบริษัทฯ ที่มีทุนจดทะเบียน ไม่เกิน 5 ล้านบาท และ มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้
กำไรสุทธิ 300,000 บาทแรกได้รับยกเว้นภาษี
กำไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาท – 3,000,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 15
กำไรสุทธิส่วนที่เกิน 3,000,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 20
การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีที่ต้องชำระ = กำไรสุทธิ x อัตราภาษี
กรณีที่มีผลขาดทุนสุทธิ ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ และสามารถนำผลขาดทุนยก ไปใช้หักจากกำไรในปีถัดไปได้ไม่เกิน 5 ปี
แบบที่ใช้ยื่นภาษี แบบภ.ง.ด.50 สำหรับการยื่นแบบภาษีประจำปี ภายใน 150 วันนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี แบบ ภ.ง.ด. 51 สำหรับการยื่นแบบภาษีครึ่งปี ภายใน 2 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีหกเดือน
ติดตามตอนที่ 5 ภาษีมูลค่าเพิ่ม(Value Added Tax) ได้ในตอนต่อไปครับ
อบรมบัญชี อบรมภาษี เรียนรู้บัญชี เรียนรู้ภาษี สรรพากร สภาวิชาชีพบัญชี สถาบันKASME สถาบันคัสเม่ เก็บชั่วโมงอบรม นับชั่วโมงอบรม อบรมบัญชีระยอง อบรมบัญชีกรุงเทพ อบรมบัญชีชลบุรี อบรมบัญชีจันทบุรี อบรมภาษีระยอง อบรมภาษีชลบุรี อบรมภาษีจันทบุรี อบรมภาษีกรุงเทพ กฏหมายภาษี มาตรฐานการบัญชี อาจารย์ดำริดวงนภา TaxAuditor สำนักงานประกันสังคม ภาษี บัญชี สรรพากร สำนักงานบัญชีระยอง ระยอง
*สงวนลิขสิทธิ์งานเขียน อ.ดำริ ดวงนภา ข้อมูลทุกรูปแบบที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ www.kasmethai.com และที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ภายใต้การดูแลของเว็บไซ์ www.kasmethai.com ห้ามคัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ หรือนำเนื้อหาส่วนหนึ่งส่วนใดในเว็บไซต์ www.kasmethai.com ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร