บุคคลธรรมดามีเงินได้ 40(5) - (8) เดือนม.ค.-มิ.ย.67 อย่าลืมยื่นแบบภาษี ภงด.94 !
บุคคลธรรมดามีเงินได้ 40(5) - (8) เดือนม.ค.-มิ.ย.67 อย่าลืมยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 !
ยื่นภาษีครึ่งปี 2567 (ภ.ง.ด.94) คืออะไร
คือ การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี สำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้รับตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงเดือน มิ.ย. 2567 ไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นหรือไม่ก็ตาม โดยการยื่นภาษีครึ่งปี 2567 นั้น เป็นการ ชำระภาษีไว้ล่วงหน้า ช่วยให้ผู้มีเงินได้ สามารถคาดการณ์จำนวนเงินได้ตลอดปีภาษีของตน จากเงินได้ในครึ่งปีแรกของตน เพื่อประเมินและวางแผนลดหย่อนภาษีก่อนที่จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90 อีกครั้ง หากไม่มีการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 อาจจะทำให้ผู้มีเงินได้ ไม่ได้เตรียมตัววางแผนทำให้ต้องชำระภาษีในการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90 เป็นเงินจำนวนมาก ทำให้เป็นภาระสำหรับผู้มีเงินได้
ยื่นภาษีครึ่งปี 2567 (ภ.ง.ด. 94) ยื่นได้ถึงเมื่อไร
ตั้งแต่ 1 ก.ค. - 30 ก.ย. 2567 แต่ยื่นแบบทางอินเตอร์เน็ตได้ถึง 8 ต.ค. 2567
ใครต้องยื่นภาษีครึ่งปี 2567
ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 5 หรือ 40(5) หมายถึง เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงเงินหรือประโยชน์ที่ได้จากการผิดสัญญาเช่าซื้อ และการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนที่ผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขาย โดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้วอีกด้วย
ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 6 หรือ 40(6) หมายถึง เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี และประณีตศิลปกรรม
ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 7 หรือ 40(7) หมายถึง เงินได้จากการรับเหมา ที่ผู้รับเหมาต้องลงทุน จัดหาวัสดุส่วนประกอบที่สำคัญ เช่น รับเหมาก่อสร้าง รับจ้างทาสี เป็นต้น
ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 8 หรือ 40(8) หมายถึง เงินได้จากการพาณิชย์ หรือเงินได้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินได้ตามมาตรา40(1)-(7)เช่น รางวัลจากการชิงโชค รายได้จากการขายของชำ การขายอสังหาริมทรัพย์ การขายของออนไลน์ เบี้ยยังชีพที่รัฐบาลจ่ายให้ เป็นต้น
สิทธิลดหย่อนและยกเว้นภาษี สำหรับการยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94)
ค่าลดหย่อนส่วนตัว
หักลดหย่อนได้ จำนวน 30,000 บาท สำหรับกรณีผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนได้ จำนวน 30,000 บาท หากอยู่ในประเทศไทยเพียงคนเดียว หรือ 60,000 บาท หากอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
ค่าลดหย่อนคู่สมรส
หักลดหย่อนได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท
กรณีคู่สมรสมีเงินได้ ตามมาตรา 40(5)-(8)
กรณีรวมคำนวณผู้มีเงินได้ หักลดหย่อนส่วนตัวได้ จำนวน 30,000 บาท และหักลดหย่อนสามี/ภรรยาของผู้มีเงินได้ จำนวน 30,000 บาท
กรณีแยกยื่น ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนส่วนตัวได้ จำนวน 30,000 บาท
กรณีคู่สมรสมีเงินได้ เฉพาะตามมาตรา 40(1)-(4) หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท
กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (รวมกันถึง 180 วันในปีภาษี) หักลดหย่อนคู่สมรสได้ ไม่ว่าคู่สมรสจะอยู่ในไทยหรือไม่
ส่วนกรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (รวมกันไม่ถึง 180 วันในปีภาษี) หักลดหย่อนได้เฉพาะคู่สมรสที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
ค่าลดหย่อนบุตร
หักลดหย่อนได้เฉพาะบุตรที่มีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปี และยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษา ดังนี้
บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ของผู้มีเงินได้/สามีหรือภรรยาของผู้มีเงินได้
หักลดหย่อนได้ คนละ 15,000 บาท
สำหรับคนที่สองเป็นต้นไปที่เกิดใน/หลังปี พ.ศ.2561 หักลดหย่อนเพิ่มอีก เป็นคนละ30,000 บาท
บุตรบุญธรรม หักลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท รวมไม่เกิน 3 คน
กรณีมีทั้งบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และบุตรบุญธรรม ให้นำบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายมาหักก่อน
หากมีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายมีจำนวนครบ 3 คนแล้ว จะหักบุตรบุญธรรมอีกไม่ได้
หากบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายมีจำนวนไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรบุญธรรมมาหักลดหย่อนได้ แต่เมื่อรวมกับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต้องไม่เกิน 3 คน
ค่าลดหย่อนบิดามารดา
หักลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท โดยบิดามารดา ต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท แต่หากเป็นบุตรบุญธรรม ไม่สามารถหักลดหย่อนบิดามารดา
ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายไปจริง ในระหว่างเดือนม.ค. ถึง มิ.ย.ของปีภาษี โดยส่วนที่จ่ายไปไม่เกิน 10,000 บาท หักลดหย่อนได้เพียงครึ่งหนึ่งไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท ให้หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 90,000 บาท
ค่าลดหย่อนเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม สำหรับเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.ของปีภาษี
ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต
สำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายในระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.ของปีภาษี นำมาหักลดหย่อนได้ โดยส่วนที่จ่ายไปไม่เกิน 10,000 บาท หักลดหย่อนได้เพียงครึ่งหนึ่งไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท ให้หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 90,000 บาท
ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันบำนาญ
หักลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพ
หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิต ต้องไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายในเดือน ม.ค.-มิ.ย.
ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่
หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของตนเองและบิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้
ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร
หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวแต่ไม่เกิน 60,000 บาท หากจ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรของการตั้งครรภ์แต่ละคราวมิได้จ่ายในปีภาษีเดียวกัน ให้ได้รับสิทธิตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
หักลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
หักลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุด 13,200 บาท
การบริจาคให้ศาสนสถาน และองค์กรสาธารณกุศลอื่น ๆ
หักลดหย่อนได้เท่ากับจำนวนเงินที่ได้บริจาคจริงแต่รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนอย่างอื่น และเงินบริจาค สนับสนุนการศึกษาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
การบริจาคให้สถานศึกษาและสถานพยาบาลของราชการ
หักลดหย่อนได้ 2 เท่า ของจำนวนเงินที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่าย
การบริจาคให้พรรคการเมือง
หักลดหย่อนได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันไม่เกิน 10,000 บาท
Q & A คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับ ภงด.94
ที่มา: กรมสรรพากร
ข้อ 1. คำถาม : สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ตามมาตรา 40(5)(6)(7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร สามีหรือภริยาที่มีหน้าที่ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94
คำตอบ : สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 สำหรับเงินได้ของตน
ข้อ 2. คำถาม : สามีมีเงินได้จากเงินเดือนและภริยามีเงินได้จากการค้าขาย สามีหรือภริยามีหน้าที่ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94
คำตอบ : ตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการ ถ้าสามีภริยาอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี แต่ขณะยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 สามีภริยายังมิได้อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี สามีจึงไม่มีหน้าที่ยื่นแบบดังกล่าว เฉพาะภริยาเท่านั้นที่จะมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 สำหรับเงินได้จากการค้าขายของตน เมื่อถึงกำหนดยื่นแบบแสดงรายการประจำปี และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้สามีมีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 โดยนำเงินได้จากการค้าขายของภริยามารวมคำนวณด้วย
ข้อ 3. คำถาม : อายุเกิน 65 ปี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 สามารถใช้สิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท ได้หรือไม่
คำตอบ : หากผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปในปีภาษี และเป็นผู้อยู่ในไทย สามารถใช้สิทธิยกเว้นเงินได้จำนวน 190,000 บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 257 (พ.ศ.2549) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 150) โดยต้องกรอกในใบแสดงสิทธิผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปด้วย
ข้อ 4. คำถาม : บุคคลธรรมดาได้รับผลประโยชน์จากการขายหน่วยลงทุน RMF/LTF ที่เป็นไปตามเงื่อนไข ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องนำมายื่นแบบ ภ.ง.ด.94 หรือไม่
คำตอบ : ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการขายหน่วยลงทุน RMF/LTF ที่เป็นไปตามเงื่อนไข ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2(65) และ (67) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ให้นำมายื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ด้วย เนื่องจากเป็นการยกเว้นแบบมีเงื่อนไข โดยแสดงในส่วน ก รายการเงินได้พึงประเมิน ที่ข้อ 5. หรือข้อ 6. เลือก ยกเว้น
ข้อ 5. คำถาม : นาย ก. มีเงินได้จากการขายของจะยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 โดยหักค่าใช้จ่ายเหมาในอัตราร้อยละ 80 เมื่อถึงกำหนดเวลายื่นแบบ ภ.ง.ด.90 จะหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ได้หรือไม่
คำตอบ : กรณีผู้มีเงินได้จากการขายของโดยมิได้เป็นผู้ผลิต สามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 โดยหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา และยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 โดยหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้ หากมีหลักฐานและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่าค่าใช้จ่ายเหมาตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502
ข้อ 6. คำถาม : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 จะหักลดหย่อนผู้มีเงินได้เต็มจำนวน 30,000 บาท หรือไม่
คำตอบ : บุคคลธรรมดาที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 สามารถหักลดหย่อนผู้มีเงินได้ ได้เพียงกึ่งหนึ่ง คือ 15,000 บาท สำหรับกรณีผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนผู้มีเงินได้ ได้เพียงกึ่งหนึ่ง ตามจำนวนผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลที่อยู่ในไทย ดังนี้
1. กรณีเป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลอยู่ในไทยเพียงคนเดียว ให้หักลดหย่อนผู้มีเงินได้เพียงคนเดียว เป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท
2. กรณีผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลอยู่ในไทยตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ให้หักลดหย่อนผู้มีเงินได้ ทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท
ข้อ 7. คำถาม : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ผู้มีเงินได้จะหักลดหย่อนคู่สมรสได้เต็มจำนวน 30,000 บาท หรือไม่
คำตอบ : ผู้มีเงินได้ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 สามารถหักลดหย่อนคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้เพียงกึ่งหนึ่ง คือ 15,000 บาท
1. กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย (ถึง 180 วันในปีภาษี) ให้หักลดหย่อนคู่สมรสได้ไม่ว่าคู่สมรสจะอยู่ในไทยหรือไม่
2. กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในไทย (ไม่ถึง 180 วันในปีภาษี) ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะคู่สมรสที่เป็นผู้อยู่ในไทยเท่านั้น
ข้อ 8. คำถาม : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ผู้มีเงินได้จะหักลดหย่อนบุตรได้จำนวนเท่าใด
คำตอบ : ผู้มีเงินได้ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 สามารถหักลดหย่อนบุตรได้เพียงกึ่งหนึ่ง ดังนี้
1. บุตรที่ไม่ได้ศึกษาหรือศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ให้หักลดหย่อนได้คนละ 7,500 บาท
2. บุตรที่ศึกษาอยู่ในประเทศ ให้หักลดหย่อนได้คนละ 8,500 บาท
3. กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย (ถึง 180 วันในปีภาษี) ให้หักลดหย่อนบุตรทั้งที่อยู่ในไทยและอยู่ต่างประเทศ
4. กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในไทย (ไม่ถึง 180 วันในปีภาษี) ให้หักลดหย่อนเฉพาะบุตรที่อยู่ในไทยเท่านั้น
โดยให้หักลดหย่อนได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่
ข้อ 9. คำถาม : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้เท่าไร
คำตอบ : ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สำหรับส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท หักได้เพียงกึ่งหนึ่ง คือไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 56 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนที่เกิน 10,000 บาท ให้ได้รับยกเว้นอีก ไม่เกิน 90,000 บาท สำหรับเบี้ยประกันที่จ่ายตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป ตามข้อ 5 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ.2551) แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่าย
สำหรับคู่สมรสไม่มีเงินได้ แต่ทำประกันชีวิตไว้ ผู้มีเงินได้ไม่สามารถนำเบี้ยประกันของคู่สมรสมาหักลดหย่อน เนื่องจากความเป็นสามีภริยามิได้อยู่ตลอดปีภาษี เมื่อถึงกำหนดเวลายื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษี จึงจะนำเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้มาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
ข้อ 10.คำถาม : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิยกเว้นเงินได้ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาได้หรือไม่
คำตอบ : การยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ผู้มีเงินได้ที่จ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพให้บิดามารดาของตน และบิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท เช่นเดียวกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
ข้อ 11. คำถาม : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ผู้มีเงินได้จะหักลดหย่อนบิดามารดาได้เต็มจำนวนคนละ 30,000 บาท หรือไม่
คำตอบ : ผู้มีเงินได้ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 สามารถหักลดหย่อนบิดามารดาของผู้มีเงินได้หรือบิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้เพียงกึ่งหนึ่ง คือคนละ 15,000 บาท ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
ข้อ 12. คำถาม : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 บุตรจะใช้สิทธิหักลดหย่อนบิดามารดาได้หรือไม่ กรณีบิดามารดาถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี (เช่น ตายในเดือนมิถุนายน)
คำตอบ : กรณีบิดามารดาตายในระหว่างปีภาษี ให้บุตรเพียงคนใดคนหนึ่งใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ โดยแนบ แบบ ล.ย.03 และสำเนาใบมรณบัตร พร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94
ข้อ 13. คำถาม : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ผู้มีเงินได้จะนำค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มาหักลดหย่อนได้หรือไม่
คำตอบ : ได้ ในจำนวนไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป ตามข้อ 4 และข้อ 6 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ.2551) ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
ข้อ 14. คำถาม : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ผู้มีเงินได้จะหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้เท่าไร
คำตอบ : การลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ให้หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายไปจริงในระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน ดังนี้
1. ส่วนที่จ่ายไปไม่เกิน 10,000 บาท หักลดหย่อนได้เพียงกึ่งหนึ่งคือ 5,000 บาท
2. สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท ให้หักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 90,000 บาท
ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 264 (พ.ศ.2550) ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 165)(ฉบับที่ 166) และ (ฉบับที่ 167)
ข้อ 15. คำถาม : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ผู้มีเงินได้มีเงินบริจาค ต้องคำนวณเพียงกึ่งหนึ่งหรือไม่
คำตอบ : การยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ผู้บริจาคมีสิทธิหักลดหย่อนเงินบริจาค และยกเว้นเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายได้เท่ากับจำนวนเงินกึ่งหนึ่งที่ได้บริจาคจริงในเดือนมกราคมถึงมิถุนายนของปีภาษีนั้นๆ ตามมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่รวมกันต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช่จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว (ก่อนหักเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา)
ข้อ 16. คำถาม : บุคคลธรรมดามีเงินได้จากการขายที่ดินหักค่าใช้จ่ายเหมาตามจำนวนปีที่ถือครอง คงเหลือเงินได้สุทธิคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้ จะได้รับยกเว้นเงินได้สุทธิ 150,000 บาท แรกหรือไม่
คำตอบ : ไม่ได้รับยกเว้นเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก เนื่องจากเป็นการคำนวณภาษีตามมาตรา 48(4) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่การคำนวณภาษีตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 17. คำถาม : การคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 กรณีใช้สิทธิยกเว้นสำหรับผู้มีเงินได้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป คำนวณจากเงินได้พึงประเมินก่อนหรือหักเงินที่ได้รับยกเว้น 190,000 บาทแล้ว
คำตอบ : การคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 ตามมาตรา 48(2) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีใช้สิทธิยกเว้นสำหรับผู้มีเงินได้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป ให้คำนวณจากเงินได้พึงประเมินหลังจากหัก 190,000 บาท แล้ว
ข้อ 18. คำถาม : มีเงินได้สุทธิ จำนวนเงิน 750,000 บาท คำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้เป็นเงินภาษีที่ต้องชำระเท่าไร
คำตอบ : ภาษีที่คำนวณได้ เท่ากับ 85,000 บาท
วิธีการคำนวณ
0 - 150,000 บาท ยกเว้น
150,001 - 500,000 บาท อัตราร้อยละ 10 เท่ากับ 35,000 บาท
500,001 - 750,000 บาท อัตราร้อยละ 20 เท่ากับ 50,000 บาท
รวมภาษีที่คำนวณได้ 85,000 บาท
ข้อ 19. คำถาม : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ผ่อนชำระได้หรือไม่
คำตอบ : หากเป็นแบบที่ยื่นภายในกำหนดเวลา ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา หรือยื่นชำระภาษีผ่านธนาคาร ยกเว้นธนาคารกรุงไทย และมีภาษีที่ต้องชำระตั้งแต่ 3,000 บาท ขึ้นไป สามารถผ่อนชำระได้ไม่เกิน 3 งวด เท่าๆ กัน ดังนี้
งวดที่ 1 ชำระพร้อมกับการยื่นแบบภายในวันที่ 30 กันยายน
งวดที่ 2 ชำระภายในวันที่ 31 ตุลาคม
งวดที่ 3 ชำระภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน
กรณีมิได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนดเวลา ผู้เสียภาษีหมดสิทธิที่จะผ่อนชำระและต้องชำระภาษีอากรที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ ทั้งนี้ การยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่สามารถผ่อนชำระได้
ข้อ 20. คำถาม : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เกินกำหนดจะเสียค่าปรับและเงินเพิ่มอย่างไร
คำตอบ : 1. เสียค่าปรับอาญา ดังนี้
กรณียื่นเกินกำหนดไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา เสียค่าปรับ 100 บาท
กรณียื่นเกินกำหนด เกิน 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา เสียค่าปรับ 200 บาท
2. เสียเงินเพิ่ม (ถ้ามีเงินภาษีที่ต้องชำระ) อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนคิดเป็นหนึ่งเดือน
Comments